แบงก์มองเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.10-33.70 บาทต่อดอลลาร์ จับตาตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ เดือนม.ค.-ประชุมธนาคารกลางบีโออี-อีซีบี ระบุตลาดคาดเฟดเดินหน้าจัดการเงินเฟ้อ-เดินหน้าคุมเข้มนโยบายการเงิน ดันเงินดอลลาร์แข็งค่า กดดันเงินบาทอ่อนค่า
วันที่ 30 มกราคม 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 31 มกราคม-4 กุมภาพันธ์ 2565) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.10-33.60 บาทต่อดอลลาร์ โดยตัวเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม จะเป็นตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ เดือนม.ค. ซึ่งตลาดจะรอดูการส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ถึงท่าทีการฟื้นตัวของตลาดแรงงานและค่าจ้างหรือไม่
นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ที่จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ซึ่งตลาดรับรู้ไปแล้วพอสมควร โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 4-5 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้เงินปอนด์แข็งค่าได้ รวมถึงความกังวลของอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และไทม์ไลน์การขึ้นดอกเบี้ยที่คาดว่าจะปรับขึ้นจำนวน 2 ครั้ง ตลอดจนสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศและต่างประเทศ และการยกระดับมาตรการควบคุมโควิด-19 ของประเทศญี่ปุ่น
“ปัจจัยที่ตลาดให้ความสำคัญนอกจากตัวเลขเศรษฐกิจและการประชุมสำคัญแล้ว ตลาดยังเริ่มโฟกัสเรื่องงบการเงินของบริษัทต่างๆ ที่ทยอยออกมา ซึ่งจะช่วยสร้าง Sentiment ของตลาด รวมถึงความเสี่ยงระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้โทนตลาดเป็นโทนระมัดระวัง ซึ่งส่งผลให้ดอลลาร์เริ่มค่อยๆ แข็งค่าได้ และเงินบาทค่อยๆ อ่อนค่า”
สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ตลาดหุ้นซื้อสุทธิราว 4,380 ล้านบาท และตลาดพันธบัตร (บอนด์) ซื้อสุทธิประมาณ 9,490 ล้านบาท โดยสัญญาณการเข้าซื้อบอนด์ มองว่า เป็นการเข้ามาเก็งกำไรบอนด์ระยะสั้น โดยใช้วิธีการ FX Swap เพื่อกินส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการกินส่วนต่างที่ไม่มีความเสี่ยง และไม่ได้มีผลกับค่าเงิน โดยภาพรวมสัปดาห์หน้ายังคงเห็นฟันด์โฟลว์หุ้นและบอนด์ไหลเข้าเป็นบวกเล็กน้อย
ด้านนางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 33.15-33.70 บาทต่อดอลลาร์ โดยตลาดติดตามข้อมูลจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ม.ค. ของสหรัฐฯ คาดการณ์ +1.8 แสนตำแหน่ง และการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) คาดขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง และการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) คาดคงดอกเบี้ย
อย่างไรก็ดี ควันหลงการประชุมเฟดยังเป็นปัจจัยหนุนค่าเงินดอลลาร์ ขณะที่เฟดแสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องเร่งจัดการกับเงินเฟ้อ เดินหน้าตามแผนคุมเข้มนโยบาย และเฟดเชื่อมั่นว่าการปรับนโยบายดังกล่าวจะยังไม่กระทบการจ้างงาน
“เงินดอลลาร์ในตลาดโลกแข็งค่าหลังถ้อยแถลงประธานเฟด ส่วนกระแสเงินทุนไหลเข้าอาจแผ่วลง หรือพลิกเป็นไหลออกบางส่วนช่วงสัปดาห์หน้า ขณะที่จีนหยุดเนื่องในเทศกาลตรุษจีน การซื้อขายในเอเชียอาจบางตา”
อ้างอิง
https://www.prachachat.net